โรคไข้ซิกาคืออะไร
โรคไข้ซิกาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้ซิกาเป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) และไข้เหลือง
สาเหตุหลักของการติดเชื้อเกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกาติดและช่องทางอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น การแพร่ผ่านทางเลือด การแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์
อาการของโรคไข้ซิกา
ระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกาใช้เวลาเฉลี่ย 4-7 วันหลังโดนยุงกัด (สั้นสุด 3 วันและยาวสุด 12 วัน) อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง และเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก(microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้
การรักษาโรคไข้ซิกา
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ การรักษาทำได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หรือบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้ห้ามรับประทานยาแอสไพรินหรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากยาบางชนิดเป็นอันตรายสำหรับโรคนี้ โดยอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น
การป้องกันโรคคือหัวใจที่สำคัญที่สุด
วิธีการป้องกันโรคไข้ซิกาสามารถทำได้ดังนี้
> ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด วิธีนี้สำคัญที่สุด โดย
* ใช้ยากำจัดแมลงหรือยาทาป้องกันยุงกัด
* นอนในมุ้ง และปิดหน้าต่าง ปิดประตูหรือใช้มุ้งลวดติดป้องกันยุงเข้าบ้าน
* สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด
* กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือปิดฝาภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำได้ เช่น กระถางต้นไม้ เพื่อป้องกันน้ำขังอันจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
> หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที
> หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด แต่หากจำเป็นต้องเดินทาง ควรปรึกษาแพทย์และป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
สิ่งสำคัญที่ควรรู้เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ดีที่สุด
* ในระยะ 7 วันที่เริ่มมีไข้ จะมีปริมาณของเชื้อไวรัสในกระแสเลือดจำนวนมาก หากถูกยุงกัดในช่วงนี้จะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้อย่างมาก
* วิธีที่จะทำให้มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายของเชื้อน้อยที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ตนเองถูกยุงกัด โดยเฉพาะในระยะ 7 วันแรกที่มีอาการ
มาตรการที่ทุกคนทำได้และได้ผลดี คือ ร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนซึ่งเป็นฤดูระบาดสูงสุดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ตามมาตรการ 3 เก็บ คือ "เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ” เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ให้ทำอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ รวมถึงการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุข หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์ทันที ที่ผ่านมา มีหญิงตั้งครรภ์ 30 ราย ที่เฝ้าระวัง คลอดแล้ว 6 ราย เด็กทุกรายปกติดี ที่เหลือมีการติดตามดูแลอยู่
|